ผลวิจัยชี้ “EQ สำคัญกว่า IQ ในแง่ของความสำเร็จ”

เครดิตภาพ :huffpost.com

สังคมในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับการให้ความสำคัญของ “ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา” หรือ IQ ที่แทบจะทุกครอบครัวเริ่มปลุกจิตสำนึกบุตรหลานแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะ  “การเรียนดีคะแนนสวย” ที่พ่อ แม่ ครูผู้ปกครองมักโฟกัสให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุ แต่รู้หรือไม่ว่าความคิดเหล่านี้มักเป็นความเข้าใจผิด! 

หากต้องการก้าวให้ทันโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การปฏิรูปและการจัด Mind set ใหม่ ภายใต้คำแนะนำที่อ้างอิงผลการวิจัย จาก World Economic Forum (WEF) ที่เคยจัดทำการวิจัยในหัวข้อ “Future of Jobs” ซึ่งสะท้อนความสำคัญของ EQ หรือ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ อีกทั้งยังระบุว่า EQ นั้นแท้จริงมีความสำคัญมากกว่า IQ

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ได้รายงานเรื่องดังกล่าว โดยอ้างข้อมูลจากงานวิจัยของ WEF ระบุเหตุผลว่า เพราะอะไรความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับ “อนาคตของชาติ” โดยอ้างอิงข้อมูลที่น่าสนใจจากหลากหลายที่มา มาสนับสนุนกรณี ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ว่ามีความสำคัญมากกว่า IQ 

พร้อมกับยกตัวอย่างเช่น นายแดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นคนแรกที่ให้ความสำคัญกับ EQ โดยระบุในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “Emotional Intelligence” หรือ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ เป็นการโยงความสำคัญเข้าสู่ “การจ้างงาน” ในปี 2020 อย่างมีนัยยะสำคัญว่า EQ กำลังจะกลายเป็น 1 ใน 10 ทักษะจำเป็นที่ต้องใช้ในการสมัครงาน และในรายงานระบุด้วยว่า  EQ  มักเป็นการพยากรณ์ “ความสำเร็จในชีวิต” ได้ดีกว่า “สติปัญญา”  

มีคำยืนยันจากนักจิตวิทยาหลายรายบ่งชี้ว่า พ่อแม่จำเป็นต้องรู้ว่าสมองของเด็กๆ จะสามารถพัฒนาศักยภาพไปในทิศทางไหนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการกดดันหรือตีกรอบกฎเกณฑ์ของลูกๆ ให้เข้าสู่ภาวะตึงเครียด จนนำไปสู่การปิดกั้นความสามารถที่แท้จริง ซึ่งการจัด Mind set และให้ความสำคัญกับ EQ มากขึ้น จะช่วยให้พ่อแม่สามารถทำหน้าที่ดึงศักยภาพของลูกๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม

ผลการศึกษาของ WEF ล่าสุดนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตั้งสมมุติฐานเพื่อหาคำตอบที่แท้จริง หลาย 10 ปีมานี้สถาบันวิจัยจากหลายๆ แห่งก็พยายามถกเถียงเพื่อให้หลักการนี้เป็นที่ยอมรับของสากลโลกว่า EQ นั้นสำคัญต่อเด็กอายุน้อยและการพัฒนาสติปัญหาของเด็กๆ  ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จในอนาคตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

 หนึ่งประโยคที่น่าสนใจในรายงานดังกล่าวระบุว่า 

“การมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่ดี จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จได้ง่ายกว่าการมีเชาว์ปัญญาที่หลักแหลม เพราะนั้นหมายถึงความสามารถในการรับมือในเรื่องล้มเหลวต่างๆ ได้ดีกว่า เห็นได้จากคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานความเชาว์ปัญญาเป็นทักษะแรก แต่เป็นความพยายาม อดทนอดกลั้น และเข้าใจธรรมชาติของปัญหาในทุกๆ ขั้นตอนก่อนประสบความสำเร็จ”

 นักจิตวิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า 

“คนมักจะลืมในสิ่งที่คุณพูด คนมักจะลืมในสิ่งที่คุณทำ แต่พวกเขาไม่เคยลืมในสิ่งที่คุณทำให้รู้สึก เพราะความรู้สึก หรือทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับด้านอารมณ์ ไม่สามารถซื้อขายกันได้ เพราะมันไม่สามารถแปลงเป็นมูลค่าเหมือนสินค้าชิ้นหนึ่งได้” 

นี่คงเป็นนิยามหนึ่งที่อธิบายและให้ภาพได้กว้างและลึกซึ้งขึ้นอีก ว่าจริงๆ แล้วทำไม EQ ถึงสำคัญในอนาคต

 นอกจากนี้ ผลสำรวจของ CareerBuilder จากผู้จัดการที่มีอำนาจตัดสินใจจ้างงาน 2,600 คน พบว่า มากกว่า 71% ของผู้จัดการที่ตอบแบบสอบถามชี้ว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับ EQ ของพนักงานมากกว่า IQ ในขณะที่ 59% เลือกที่จะจ้างพนักงงานที่มี IQ สูง แต่ EQ ต่ำ

 หากจะถามถึงตัวอย่างที่ชัดเจนและดีที่สุด น่าจะต้องยกอ้างให้กับ “การศึกษาของฟินแลนด์” ประเทศที่ถูกจัดว่า “นักเรียนมีคุณภาพที่สุดในโลก” หลายปีซ้อนและในปัจจุบันยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ก็เพราะว่าเด็กในวัยประถมศึกษาที่ฟินแลนด์ จะเรียนไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะรัฐบาลเชื่อว่าเด็กวัยนี้ควรจะมีเวลาทำในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจมากกว่า ต่างจากสังคมไทยที่เราจะเห็นว่า เรียนเช้ายันเย็นยังไม่พอ หลังเลิกเรียนยังมีนัดติวตามสถาบันการศึกษารายวิชาต่างๆด้วย

 ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ การศึกษาของฟินแลนด์ไม่ใช่การแข่งขัน จึงไม่มีเกรดเฉลี่ย ซึ่งรัฐบาลฟินแลนด์มองว่าการเรียนคือการพัฒนารายบุคคลให้มีความรู้ติดตัว ไม่ใช่การแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่มีการให้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจหรือความอับอายให้แก่เด็กๆ แต่เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่า

 สิ่งที่น่าฉุดคิดก็คือ ไม่เพียงแค่ระดับ EQ ของเด็กฟินแลนด์ที่สูงตามเกณฑ์แล้ว ค่าประเมินของ IQ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มี IQ สูงเช่นกัน.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....