‘วงการแพทย์’ สหรัฐฯ รุดหน้า เริ่มรักษา ‘โรคมะเร็งระยะเริ่มต้น’ ด้วยการดัดแปลง DNA มนุษย์

Credit Photo : https://www.healtheuropa.eu/cancer-treatment-dna/87247/

เพิ่มเพื่อน

หากพูดถึงวิธีที่จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องการอาหารการกิน และการออกกำลังกายเท่านั้น ด้วยโลกในยุคดิจิทัลที่หมุนเร็วขึ้น ทุกอย่างอิงแอบไปพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตมนุษย์เราเกือบ 100%

ดังนั้น ความก้าวหน้าของวงการแพทย์จึงถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กินเวลามานานกว่า 6 เดือนในประเทศไทย ทำให้เทคโนโลยีบางอย่างยิ่งถูกเร่งกระตุ้นให้เกิดขึ้นจริง หรือใช้งานได้จริง อย่างเช่น ระบบ Home Care หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘Telemedicine’ หมายถึง การนําเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time

แต่ที่น่าสนใจวันนี้ คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญ  สามารถพลิกโฉมวงการแพทย์ได้ และขณะนี้ใช้งานได้จริงในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ “การดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยน DNA ของมนุษย์เพื่อรักษาโรค” หรือภาษาทางการแพทย์เรียกกันว่า “CRISPR Cas 9” แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจริงๆ แล้วทางการสหรัฐฯ คิดค้นและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปีค.ศ.2003 และปีค.ศ. 2012

โดยนิตยสารทางการแพทย์ของเยอรมนี Nature Today ระบุว่า สหรัฐฯ น่าจะเป็นประเทศท็อปๆ ที่รุดหน้าเกี่ยวกับศาสตร์นี้ในอุตสาหกรรมแพทย์ โดยนักวิทยาศาสตร์คิดค้นเทคนิคนี้สำเร็จในปี 2018 และแพทย์เริ่มปรับใช้จริงแล้ว ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาโรคใหม่ ทั้งการตัด เพิ่ม หรือดัดแปลง บางส่วนของ DNA ในยีนที่บกพร่อง ซึ่งจะช่วยให้เซลล์สามารถซ่อมแซมยีนที่เสียหายได้เอง

ทั้งนี้ การซ่อมแซมเซลล์ดังกล่าว แพทย์ในสหรัฐฯ ได้เริ่มใช้จริงกับ “การรักษาโรคมะเร็ง” แต่เป็นการดัดแปลง หรือ ตัด DNA บางส่วนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง “ระยะเริ่มต้น” เท่านั้น ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังทำการวิจัยต่อไป เพื่อพัฒนาไปสู่การรักษาโรคมะเร็งในระยะ 2-3

นอกจากนี้ วารสาร Human Gene Therapy ระบุถึงการรักษาด้วยการแก้ไข DNA กับโรค Hunter syndrome หรือ โรคทางพันธุกรรมการเผาผลาญ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ตับโต และโครงหน้าไม่ได้รูป โดย Dr.Paul Harmatz นายแพทย์จากโรงพยาบาลเด็ก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ประสบความสำเร็จในการรักษา ด้วยการแก้ไขยีนที่ผิดปกติในร่างกาย และมีการปลูกถ่ายยีน รวมไปถึงมีการเรียงลำดับของพันธุกรรมอย่างถูกต้องใน DNA ของผู้ป่วย

ทั้งนี้ บทบรรณาธิการใน Nature Today ได้ระบุว่า แพทย์จากหลายๆ แขนงในสหรัฐฯ เช่น แพทย์เฉพาะทางโรคเบาหวาน และ แพทย์รักษาโรคอ้วน ซึ่งเป็น 2 โรคที่พบว่า จำนวนผู้ป่วยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าโรคอื่น มีแผนที่จะใช้การรักษาด้วย DNA หรือปรับแต่งยีนส์ที่ผิดปกติด้วย

ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีของการปรับแต่ง DNA ไม่ได้หยุดอยู่แค่ การรักษาโรค ณ ปัจจุบัน แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดค้นและวิจัย การปรับแต่งยีนส์ “ตั้งแต่แรกเกิด” สำหรับกรณีเด็กที่เกิดมามีความบกพร่อง หรือผิดปกติภายในร่างกาย โดยบริษัท Intellia Therapeutics บริษัทเกี่ยวกับการพัฒนาไบโอเทคโนโลยี และ CRISPR gene ระบุว่า ความสำเร็จแบบ 100% ของการรักษาโรคด้วยวิธีนี้ จะช่วยชีวิตมนุษย์ที่มีความผิดปกติเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ก่อนที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ เพราะอ้างว่าอาจนำไปสู่ ‘สุพันธุศาสตร์’ (eugenics) คือ การพัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์ ให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีและถูกต้อง รวมไปถึงต่อต้านการออกแบบพันธุกรรมในเด็กทารก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการการแพทย์ของแคนาดา และเยอรมนี ระบุว่า การรักษาด้วยเทคโนโลยีตัดต่อหรือดัดแปลง DNA มีความท้าทายเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” และต้องใช้เวลาในการพัฒนากระบวนให้เข้าใจโรคที่มีความซับซ้อน เช่น โรคหัวใจ และในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีในลักษณะแบบนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่ได้ช่วยให้เรามองภาพออกว่า future of medicine จะไปในทิศทางไหน ก็น่าจะช่วยให้เกิดไอเดีย และปรับโฉมวงการแพทย์ของไทยได้บ้าง เพื่อสนอง need ที่จะเป็นฮับสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....