CIBA มธบ. แนะผู้ประกอบการเตรียมเพิ่มทักษะทำตลาดออนไลน์หลังโควิด-19 ใช้เทคโนโลยี–โซเซียลมีเดีย ให้รู้สึกสินค้าจับต้องได้ ช่วยยกระดับการขายเข้าถึงผู้บริโภค
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐได้ออกมาตรการเคอร์ฟิว และมาตรการต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและผู้ประกอบธุรกิจ แต่โดยส่วนตัวอยากให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบการได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะได้ยกระดับและพัฒนาศักยภาพสินค้ารวมถึงบริการของตนเองเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสตาร์อัพด้านเทคโนโลยีมีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูง ไม่ว่าจะเป็น การขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี อาทิ แกร็บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า และสินค้าที่เกี่ยวกับอุปโภค บริโภคเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
“เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ การขายออนไลน์เติบโตขึ้น ธุรกิจต่างๆ ที่เปิดตามห้างสรรพสินค้า ตลาด หรือผู้ประกอบการSME สตาร์ทอัพต้องปรับตัวเองมาลงเล่นออนไลน์ ใช้เทคโนโลยี โซเซียลมีเดียเข้ามาช่วยในการทำตลาดออนไลน์ เป็นสมาร์ทซัพพลายเชน คือ ร้านค้า การขนส่ง และผู้บริโภค เพราะแม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการ เปิดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ แต่เป็นการเปิดภายใต้ชีวิตวิถีใหม่(new normal) ที่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ร้านอาหาร 1 โต๊ะนั่งได้ 1 คน หรือต้องล้างมือ วัดอุณหภูมิ สวมหน้ากาก สิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติตนที่ดี แต่คนไทยชอบมีปฎิสัมพันธ์ ดังนั้นอาจมองว่าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ง่ายกว่า ธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแนวดิจิตอลมากขึ้น”คณบดีCIBA กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ผู้ประกอบการสินค้าการเกษตรควรใช้โอกาสนี้ นำสินค้าการเกษตรของตนเองขายผ่านโซเซียลมีเดียหรือออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังทำให้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะเกษตรกรสามารถขายออนไลน์ไปยังผู้ซื้อได้ทันที
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อว่า สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหรือธุรกิจอื่นๆ รวมถึงร้านค้าร้านอาหารต้องปรับตัวเอง โดยทำโฆษณาออนไลน์ ทำการตลาดสมัยใหม่และที่สำคัญต้องเป็นสินค้าคุณภาพ ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์สินค้าแบบใหม่ เช่น การคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น การรีวิว ใช้บล็อกเกอร์เข้ามาสนับสนุนซึ่งมีอิทธิพลกับผู้ซื้ออย่างมาก เพราะการมีสินค้าคุณภาพทำให้ครองใจลูกค้าได้นาน ส่วนร้านค้าที่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ต้องยกห้างมาอยู่บนออนไลน์และในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องมีการนำเทคโนโลยี 3 มิติ 4 มิติ มาใช้บนโลกออนไลน์ ทำให้เห็นรูปทรงสินค้า เป็นภาพเสมือนจับต้องได้ และมีโมเดลที่เป็นตัวคนเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนได้สัมผัสหรือได้ทดลองสินค้าจริง และอาจจะใช้วิธีการขายสินค้าอิสระเช่นเดียวกับแม่ค้าพ่อค้าในออนไลน์ ที่ใช้เทคนิคการพูดมาดึงดูดผู้ขาย
“การทำธุรกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการในยุคโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องมีการเพิ่มทักษะเทคนิคการขายออนไลน์ให้มากขึ้น ต้องเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ของคนซื้อ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่จะติดใจการพูด และต้องมีความรู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นจับต้องได้ ทำให้ผู้ขายมีการทดลองใส่สินค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้สินค้ายั่งยืนและผู้บริโภคเกิดความจงรักภักดีต่อสินค้าซื้ออย่างต่อเนื่อง ต้องมีการนำเสนอสินค้า มีทักษะการสื่อสาร และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อโปรโมทสินค้าให้เข้าถึง เห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนทุกมุมมอง จึงอยากฝากผู้ประกอบการทุกคน อย่ามองว่าสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ เป็นวิกฤตหรือท้อแท้ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ขอให้มองหาโอกาสในการเรียนรู้ การทำงาน เพิ่มเติมทักษะและขยายธุรกิจของตนเอง” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com