“ประวิทย์ จิตนราพงศ์” เจ้าของ “แบล็คแคนยอน”
แชร์ประสบการณ์ สตาร์ทอัพ
เพราะ “กล้า..ธุรกิจจึงเกิด…ผมเคยล้มเหลวมาแล้ว”
เทรนด์ธุรกิจของผู้ประกอบการยุคใหม่แนวสตาร์ทอัพปี 2017 ยังมาแรง นักธุรกิจหน้าใหม่วัยน้อยๆ เดินทางเข้าสู่การเป็นนักธุรกิจใหม่มากมาย แต่การเดินทางบนถนนสายสตาร์ทอัพยุคใหม่เดินอย่างไร ? และเดินแล้วจะไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร? ทีมงาน INN WHY? ในนาม The Coach นิตยสารออนไลน์ INN WHY MAGAZINE ได้นำหลักคิดของการบริหารจัดการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีการแข่งขันอย่างสูงในตลาดปัจจุบัน จาก “คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์” กรรมการผู้จัดการและเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ดัง “แบล็คแคนยอน” รวมถึงร้านแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศกว่า 300 สาขาและประเทศเพื่อนบ้านอีกไม่น้อยกว่า 50 สาขา มาถ่ายทอดหลักคิด รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์จากพี่สู่น้องเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพกัน
“คุณประวิทย์” เล่าประสบการณ์ ว่า ชีวิตเริ่มต้นก่อนมาทำธุรกิจร้านกาแฟ “แบล็คแคนยอน” และยืนได้มาถึงวันนี้ได้นั้น ชีวิตได้ผ่านความล้มเหลว ผ่านอุปสรรคมามากมาย นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มต้นมาจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ทั้งการธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม ทำงานมาระยะหนึ่งเริ่มเกิดแนวคิดอยากเริ่มต้นชีวิตของการเป็นผู้ประกอบการเอง จึงตั้งบริษัทซอร์ฟแวร์เฮ้าส์เล็กๆ เป็นตัวแทนจำหน่ายระบบซอร์ฟแวร์ของ IBM ต่อมาความคิดเปลี่ยนหลังจากได้ดำเนินธุรกิจไประยะหนึ่ง คือ อยากกระจายการทำธุรกิจไปสู่ธุรกิจภาคอื่นที่ไม่เฉพาะด้านไอทีอย่างเดียว
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ถูกมองก่อนเพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ แต่ช่วงนั้นได้เกิดคำถามมากมาย เช่นถ้าเข้ามาเริ่มธุรกิจในหมวดอาหารจะเริ่มต้นบริหารจัดการอย่างไร ? เพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ที่สุดก็ได้ตัดสินใจเริ่มลงทุนจากการทำแบบเล็กๆ ไปก่อน แต่ช่วงนั้นก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงเพราะธุรกิจยังไม่มีความพร้อมด้านการเงิน การลงทุนและการบริหารจัดการ
เพราะจากมนุษย์ไอทีมาสู่การเป็นมนุษย์ขายกาแฟ ขายอาหาร เรียกว่า เป็นชีวิตที่พลิกผันมาก ยอมรับว่า ช่วงต้นแรกของการเริ่มธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยมีความยากลำบากมาก ลำบากจากที่ไม่มีความรู้ในธุรกิจที่ทำ มีการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายเรื่อง เจ็บตัวก็มีมาแล้ว ด้วยเพราะไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้านจึงนำไปสู่ความผิดพลาดบ่อย โดยเฉพาะการตัดสินใจผิดพลาด
“…ผมมีความเชื่อมั่นว่า คนที่เป็นผู้ประกอบการแล้ว ถ้าผิดพลาดขอให้มองว่า เป็นความผิดที่เล็กๆน้อยๆ เรายังมีโอกาสฟื้นหรือลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้ แต่ถ้าผิดพลาดในเรื่องใหญ่ ทำให้ ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวอาจทำให้เราลำบากนิดหนึ่ง…”
“คุณประวิทย์” กล่าวว่า เดี๋ยวนี้คนยุคใหม่ มนุษย์เงินเดือน เด็กจบใหม่ ต่างหันมาเป็นผู้ประกอบการกันเองมากขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมีคนรุ่นใหม่มีความกระตือรือล้นประกอบธุรกิจด้วยลำแข้งตัวเอง แทนการเป็นลูกจ้าง หรือไปทำงานให้คนอื่น ถือเป็นการสร้างจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ
“…ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ๆมีไม่น้อยที่ทำธุรกิจแล้วยังล้มลุกคลุกคลาน บางครั้งอาจยังไม่พร้อมเต็มที่ หรือขาดประสบการณ์ ขาดเงินทุนหรือขาดปัจจัยอื่นๆ มาเกื้อหนุนก็ต้องอาศัยเวลา อายุน้อยประสบความล้มเหลวผมมองว่าเป็นเพียงแค่บทเรียนเล็กๆที่ทุกคนจะต้องผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้…”
“ ความผิดที่เราทำไปอาจเพราะความที่เราไม่มีประสบการณ์ เช่น การเลือกทำเลไม่เป็น การไม่รู้จักพาร์ทเนอร์เพียงพอหรือ อาจไปเจอคู่ค้าทางธุรกิจที่ไม่ค่อยดีมากนัก อาจมีการทุจริต ไม่ซื่อตรง ที่สุดแล้วเมื่อเจอกับปัญหาจะค่อยๆแก้ไขขึ้นมา คนทำธุรกิจใหม่ๆอาจเจ็บปวดในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น…”
ส่วนความท้าทายระยะเริ่มต้นธุรกิจของ “แบล๊คแคนยอน” คือ 1.ความไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจที่ทำ แต่มีความอยาก มีความปรารถนา มีความรู้สึกว่าจะต้องเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆให้ได้ ความท้าทายแรกจึงเกิดว่า ทำอย่างไรจึงจะก้าวพ้นขีดของความกลัว ความไม่กล้า เพราะยังไม่เคยทำเรื่องนี้ขึ้นมาและจะทำอย่างไรให้กล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะไปเจอกับปัญหากับอุปสรรคของสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา
ช่วงนั้นได้ก้าวข้ามความกลัวไปได้ ถ้าให้มองคงเป็นเพราะมีพื้นฐานอยู่ในครอบครัวพ่อค้า มองเห็นมาตลอดว่า การทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะสำเร็จหรือล้มเหลว และบวกรวมกับพื้นฐานตนเองที่ผ่านการศึกษา การทำงานเป็นลูกจ้าง ทั้งด้านการบริหารธุรกิจ ด้านอีคอมเมิร์ซ จากประสบการณ์ที่เคยได้วางระบบให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความรู้เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องบัญชี เรื่องระบบการคุมสินค้าคงคลัง เรื่องการจัดการทรัพยากรคนมาบ้าง เลยคิดว่า ตัวเองน่าจะชนะปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งต่างๆ ที่จะต้องเผชิญข้างหน้าน่าจะพอแก้ไขปัญหาได้
ส่วนความท้าทายที่ 2 ที่มีความสำคัญอย่างมากคือ เรื่องของเงินทุน เพราะเวลาทำธุรกิจแรกๆ ส่วนใหญ่มักมองในเรื่องของ การมองโลกในแง่ดี แต่ก็ได้มองในแง่ร้ายเพื่อเกลี่ยจุดอ่อนในแง่ต่างๆไว้ เมื่อรวมกับความอยากทำธุรกิจมีมากกว่า เลยทำให้มองว่าปัญหาเหล่านี้เล็กน้อย เงินทุนเหล่านี้เดี๋ยวก็หมุนไปได้ พอทำไปทำมาธุรกิจเริ่มขยาย ได้มีการซื้อสินค้าคงคลังเข้ามา ต้องมีการนำเงินไปมัดจำสินค้า เป็นเงินก้อนใหญ่ๆ จมอยู่หลายเดือน ทำให้ต้องมานั่งคิดแก้ปัญหาต่อไปอีกว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะหมุนเงินให้กระแสเงินสดของธุรกิจดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอีกความท้าทายที่ต้องแก้ปัญหา ต้องมองถึงสภาพคล่องการหมุนธุรกิจของตัวเองให้ได้
“… การทำธุรกิจไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุด ทุกปัจจัยล้วนมีความหมาย มีความสำคัญทั้งสิ้น แม้การบริหารจัดการคนที่มองดูว่า ต้องมีทีมทำงานที่มาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายประสบการณ์ หลากหลายวุฒิภาวะ การบริหารจัดการคนเป็นพันคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน…”
ฉะนั้นช่วงเริ่มต้นธุรกิจเมื่อไม่มีประสบการณ์ด้านระบบงาน ด้านบริหารจัดการร้านอาหาร ร้านกาแฟ สิ่งที่ทำได้คือ การหาผู้เชี่ยวชาญแขนงนั้นๆมาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำก็สามารถช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com