เติบโตอย่างคุณภาพ ไม่เน้นภัยเสี่ยงสูงชะลอรับ EV ครึ่งปีหลังลุยไอเออาร์และข้าวนาปี!

หลังมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,211.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.7 % มีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 906.1 ล้านบาท ลดลง 14.9 % มีกำไรจากการลงทุนสุทธิ 860.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.4 % และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 1,766.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6 % โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,534.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ลดลง 9.2 % และมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 14.41 บาท

ล่าสุดดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรุงเทพประกันภัย ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงว่า เป็นไปตามอุตสาหกรรมที่การรับประกันภัยรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนมากสุดในระบบมีการเคลมประกันภัยด้วยอัตราความเสียหายที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ หลังจากกิจกรรมทางสังคมของผู้ใช้รถยนต์กลับสู่ภาวะปกติ (ก่อนช่วงโควิดระบาด)

ที่สำคัญการเคลมประกันภัยของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เริ่มมีอัตราสูงขึ้นโดยไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นหลังจากครบรอบปีการรับประกันภัยที่ตัวเลขน่าจะไม่อยู่แค่ 60 % กว่า แต่อาจจะขยับไปแตะถึงประมาณ 80 % กว่า เพราะมีค่าเฉลี่ยของรถยนต์ EV บางยี่ห้อที่มีค่าเฉลี่ยเคลมสูงถึง 100% ซึ่งสถานการณ์นี้น่าจะมีผลทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพประกันภัย

“จากเดิมอัตราการเคลมเฉลี่ยประมาณ 56% ก็ขยับขึ้นประมาณ 59% หรือ 60% ฉะนั้นกำไรจากการรับประกันภัยของเราจึงลดไปประมาณ 160 ล้านบาท  จริงๆ แล้วรถยนต์ลดลงไปมากกว่านั้นแต่มีกำไรตัวอื่นเข้ามาชดเชยเพิ่มเติมให้ และช่วงต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีภัยที่เป็นความเสียหายใหญ่ๆของทรัพย์สิน ก็เลยทำให้ภาพรวมของกำไรจากการรับประกันภัยลดลงไปแค่ 160 ล้านบาท”

ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวต่อถึงกำไรจากการลงทุนในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ว่า เพิ่มขึ้นประมาณ 170 ล้านบาท ขยับเป็น 860 ล้านบาท จากเดิมประมาณ 700 ล้านบาท เหตุผลที่กำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งที่สถานการณ์หุ้นในตลาดผันผวนราคาต่ำลง ด้วยเพราะแนวทางการลงทุนของกรุงเทพประกันภัยได้เน้นการลงทุนระยะยาวไม่เน้นซื้อมาขายไป และเป็นการลงทุนในหุ้นหลักเช่น บำรุงราษฎร์ กรุงเทพประกันชีวิต และหุ้นใหญ่ที่มีเงินปันผลดี พร้อมมีการลงทุนเพิ่มเติมในพันธบัตรตราสารหนี้ด้วย

“จริงๆ ครึ่งแรกปีนี้กำไรรวมเราเพิ่มขึ้น แต่พอจ่ายภาษีไปแล้วกลายเป็นกำไรสุทธิลดลงเพราะว่าปี 2566 มีการจ่ายภาษีนิดเดียวเนื่องจากบริษัทได้รับเครดิตภาษีจากการขาดทุนการรับประกันภัยโควิด ขณะที่ปีนี้ต้องจ่ายเต็ม ฉะนั้นภาษีครึ่งแรกปีนี้บริษัทจึงจ่ายเพิ่มขึ้น 250% ทำให้กำไรภาพรวมหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงลดลงไป”

               สำหรับทิศทางธุรกิจของกรุงเทพประกันภัยในครึ่งหลังปี 2567 นี้นั้น ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังเป็นความท้าทายไม่น้อยไปกว่าครึ่งปีแรก และแม้ว่าครึ่งปีแรกบริษัทจะเติบโตได้เกือบ 10% ขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตแค่ 0.04 % จากการคาดเป้าหมายของสมาคมประกันวินาศภัยที่ทั้งปีจะเติบโตถึง 4-5% โดยมีรถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นกลุ่มตลาดที่ยังน่าสนใจ

แต่ในมุมของกรุงเทพประกันภัย ดร.อภิสิทธิ์ กลับมองว่ากลุ่มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ยังไม่ใช่ตลาดที่จะโฟกัสหลัก จึงมีการรับประกันภัยเพียงบางส่วนและดูแลลูกค้าเดิมที่ต่ออายุเป็นหลัก ทำให้ที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยจากตลาดนี้เพียง 300 ล้านบาท 

               โดยเขาเน้นย้ำว่า ทิศทางของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ปีนี้มีอัตราการเติบโตของตลาดลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน คนเริ่มกังวลมากขึ้นกับการใช้งาน แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์มีการปรับปรุงพัฒนารถไม่หยุดอย่างต่อเนื่องต่างมุ่งพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีระยะการชาร์จสั้นลงและใช้งานได้ยาวนานขึ้น และมีจำนวนรถยนต์เข้าสู่ตลาดเป็นปริมาณมากทำให้บางแบรนด์หันมาใช้แผนการตลาดแข่งขันลดราคาแล้ว

“ฉะนั้นช่วงนี้นโยบายกรุงเทพประกันภัยเราก็ระมัดระวังและชะลอการเติบโต สัดส่วนเบี้ยประกันภัยจากรถ EV ตอนนี้มีประมาณ 10% ของตลาดที่มีการจดทะเบียน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนประมาณ 127,000 คัน หรือประมาณ 12,000 คัน ซึ่งเราเชื่อว่ารถ EV อนาคตอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้าสถานการณ์จึงจะดีขึ้น” ดร.อภิสิทธิ์กล่าว 

ฉะนั้นในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ กรุงเทพประกันภัยจะเร่งการเติบโตให้ได้ค่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 8% จากเบี้ยประกันภัยรับหลักที่จะมาจากการประกันภัยทรัพย์สินที่เป็นไอเออาร์รายใหญ่ที่กำลังครบสัญญาและกำลังต่อสัญญาช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 และ 4 นอกจากนั้นยังมีเบี้ยประกันภัยจากโครงการการรับประกันภัยข้าวนาปีของปีนี้อีกประมาณ 200-300 ล้านบาท

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....