กระแสตอบรับหุ้น OR คึกเกินคาดกว่า 90% จองซื้อผ่านแอปฯ เชื่อตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่

เคาะแล้วราคา IPO 18 บาทต่อหุ้น เตรียมจัดสรรนักลงทุนรายย่อย

 

ธนาคารกรุงเทพ ระบุหลังเปิดช่องทางให้จองซื้อหุ้น OR ทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มและผ่านสาขา ได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี กว่า 90% จองซื้อหลักทรัพย์ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง   จากธนาคารกรุงเทพ และกว่า 80% เป็นนักลงทุนรายใหม่ ขณะที่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” ประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ที่ราคา 18.00 บาทต่อหุ้น ก่อนเดินหน้าจัดสรรหุ้นให้แก่นักลงทุนอย่างทั่วถึง และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามแผนต่อไป

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารกรุงเทพได้เป็นหนึ่งในช่องทางการจองซื้อหุ้นสามัญ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยได้เปิดให้บริการจองซื้อผ่าน 2 ช่องทาง คือ ผ่านฟีเจอร์ใหม่ “จองซื้อหลักทรัพย์” ด้วยโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ และจองซื้อผ่านธนาคารกรุงเทพทุกสาขาทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2564 ถึงเวลา 12.00 น. (เที่ยง) ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งขาประจำและผู้ลงทุนรายใหม่เข้าร่วมจองซื้อหุ้นสามัญ ‘OR’ ผ่านทั้ง 2 ช่องทางเป็นจำนวนมาก

“ผลตอบรับจากการร่วมเป็นช่องทางในการจองซื้อหุ้น OR ของธนาคารถือว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งจากกลุ่มลูกค้าที่ลงทุนเป็นประจำกับธนาคารอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีลูกค้านักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยทำธุรกรรมการจองซื้อหลักทรัพย์กับธนาคารมาก่อนเข้ามาอีกจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากความน่าสนใจของหุ้น OR เอง ที่ธุรกิจเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว รวมทั้งการนำหลักเกณฑ์ Small Lot First มาใช้ในการจัดสรรหุ้น ซึ่งสามารถจัดสรรหุ้นให้ครบทุกคนตามจำนวนยอดจองขั้นต่ำที่คนละ 300 หุ้น ก่อนจะจัดสรรเพิ่มเติมในรอบต่อๆ ไป คนละ 100 หุ้น จนครบจำนวนหุ้นที่ได้เสนอขาย ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ SETTRADE โดยที่ลำดับการจองซื้อก่อนหลังไม่มีผลต่อการจัดสรรหุ้น ทำให้มีความเชื่อมั่นได้ว่านักลงทุนรายย่อยทุกคนมีโอกาสที่จะได้ร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านการถือหุ้นอย่างทั่วถึงกัน”  

นายทวีลาภ กล่าวต่อว่า ธนาคารยังพบพฤติกรรมของนักลงทุนที่น่าสนใจจากการเป็นตัวแทนจองหุ้น OR ครั้งนี้ โดยพบว่า กว่า 90% ของลูกค้าที่ทำการจองซื้อหลักทรัพย์เข้ามา เลือกจองผ่านฟีเจอร์ใหม่อย่าง “จองซื้อหลักทรัพย์” ของช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ขณะเดียวกัน กว่า 80% เป็นลูกค้าที่ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยทำธุรกรรมจองซื้อหลักทรัพย์มาก่อน สะท้อนถึงพฤติกรรมลูกค้านักลงทุนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีว่า มักจะมองหาช่องทางการลงทุนที่สามารถอำนวยความสะดวกและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์แบบขั้นสุด และมีขั้นตอนในการทำธุรกรรมไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวอย่างเช่น แม้ไม่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ก็สามารถจองซื้อหุ้น OR ในครั้งนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีลูกค้าอีกเกือบ 10% ของนักลงทุนที่สมัครใช้งานโมบายแบงก์กิ้งเป็นครั้งแรกเพื่อทำรายการจองซื้อหลักทรัพย์ออนไลน์ในครั้งนี้ด้วย

“การอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถจองซื้อหลักทรัพย์ผ่านช่องทางดิจิทัลในครั้งนี้ เป็นผลจากการพัฒนาศักยภาพของธนาคารในการทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน จนสามารถเติมเต็ม Digital Experience ให้ลูกค้าได้อย่างดี ทั้งยังเป็นโอกาสดีที่ธนาคารก็ได้ทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น และได้รับคำแนะนำโดยตรงจากลูกค้า อันจะเป็นประโยชน์พัฒนาบริการโมบายแบงก์กิ้งให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขณะเดียวกัน          ก็ชี้ให้เห็นว่าช่องทางสาขา ยังคงมีความสำคัญมากสำหรับลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและยินดีลงทุนด้วยยอดเงินที่สูงขึ้น ดังนั้น ธนาคารในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” จึงต้องพัฒนาทุกช่องทางไปพร้อมกัน เพื่อตอบโจทย์และอยู่เคียงข้างลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย” นายทวีลาภ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้านักลงทุนรายย่อยที่ทำการจองซื้อหลักทรัพย์ OR กับทางธนาคารไว้ สามารถตรวจสอบผลการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน OR ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 64 เป็นต้นไป

สำหรับผู้ลงทุนที่ได้รับจัดสรรหุ้นไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ หรือไม่ได้รับจัดสรร และ/หรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาที่ผู้ลงทุนได้ชำระไว้ ธนาคารจะดำเนินการคืนเงินค่าจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน OR ตามจำนวนเงินส่วนต่าง โดยใช้วิธีการคืนเงินค่าจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OR ที่ผู้ลงทุนระบุไว้ในใบจองซื้อ หรือโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • กรณีรับเงินเข้าบัญชี อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564
  • กรณีรับเป็นเช็ค อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....