เป็นไหม ? ลืมบทสนทนา ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
ทำอะไรซ้ำ ๆ หลายครั้งและมีอารมณ์แปรปรวน
ใครๆ ก็กลัวโรค “อัลไซเมอร์” มาเยือนไม่ว่าเราจะอยู่ช่วงวัยอายุเท่าไหร่ก็ตาม
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้ว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด เกิดจากการฝ่อตัวของสมองแล้วไปกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองบริเวณนั้นๆ โดยเฉพาะสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ การใช้ภาษา และ “ความทรงจำ” อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจาก “โรคสมองเสื่อม” เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดได้จาก ภาวะซึมเศร้า เครียด ผลข้างเคียงจากยา หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
อาการในระยะเริ่มต้น
เริ่มจากการหลงลืมที่ไม่รุนแรง เช่น ลืมบทสนทนา ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำอะไรซ้ำ ๆ หลายครั้ง อารมณ์แปรปรวน ซึ่งแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้
อาการในระยะกลาง
มีปัญหาด้านความทรงจำ เช่น จำชื่อคนรู้จักไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันที่มีหลายขั้นตอนได้ยากขึ้น
อาการในระยะสุดท้าย
เป็นระยะที่อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เช่น ประสาทหลอน อาละวาด เรียกร้องความสนใจ ชัก
นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาในปัจจุบันมีเพียงการใช้ยาและการดูแลที่จะช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยได้เพียงชั่วคราว หรืออาจช่วยให้พัฒนาการของโรคช้าลงได้ในบางราย
การดูแลรักษา
1.วางแผนดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่น ๆ มีการพูดคุยสอบถามถึงสิ่งที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลอาจต้องการความช่วยเหลือ
2.สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย มีการปรับสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต
3.ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ อาจให้ผู้ป่วยเดินทุกๆ วัน เพื่อปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น สำหรับผู้มีปัญหาด้านการเดิน อาจขี่จักรยานอยู่กับที่หรือออกกำลังกายโดยนั่งบนเก้าอี้แทนได้
4.การรับประทานอาหาร ควรเสริมด้วยน้ำปั่นจากผลไม้ผสมนมหรือโยเกิร์ต มีแคลอรีสูง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
5.การใช้ยารักษา แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการบางชนิดและชะลอการพัฒนาของโรค
6.การบำบัดทางจิต โดยนักจิตวิทยา เช่น กระตุ้นสมองช่วยปรับปรุงความสามารถด้านความทรงจำ ทักษะการแก้ปัญหา รวมทั้งการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด
วิธีชะลออาการเริ่มต้นของโรค
เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารมีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ใน 5 วันต่อสัปดาห์ ควบคุมระดับความดันโลหิตและฝึกการทำงานของสมอง เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี เล่นกีฬา เป็นต้น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com