ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยกม. Digital ID รัฐลดต้นทุน 127 ลบ.ปีแรก
ชี้ 4 จุดอ่อนไหว ภาค “การเงิน-การประกัน-รพ.-ปชช.”
หลังจากคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ. Digital ID จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเพิ่มเติมว่า การร่าง พ.ร.บ. Digital ID ปูทางสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงินการธนาคาร และสุขภาพ ขณะเดียวกัน คาดว่าจะช่วยภาครัฐประหยัดต้นทุนได้ถึง 127 ล้านบาทในปีแรก
ตามแผนพัฒนา National Digital ID (NDID) มีเป้าหมายเพื่อ สร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ให้ “เข้าถึง” บริการออนไลน์ของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน วัตถุประสงค์เพื่อ
1) ให้ความเชื่อมั่นการใช้งาน e-Payment และ e-Commerce ปัจจุบันกำลังมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2) ช่วยลดเอกสาร ลดขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้บริการจากภาครัฐ
3) อำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการประกอบการสำหรับภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ “วิธีการยืนยันตัวตน” จากเดิมที่ทำอยู่คือ ผู้ใช้บริการต้องแสดงตนด้วยตัวเองแบบตัวต่อตัวหรือ Face-to-Face พร้อมเอกสารยืนยันตัวตน แต่สำหรับ “การยืนยันตัวตน” แบบใหม่ผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นผู้ใช้บริการสามารถสมัครบริการได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนที่ผ่านมา และมี สพธอ. (ETDA) จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ในการยืนยันตัวตนระหว่างหน่วยงานให้
โดย Digital ID ที่แต่ละบุคคลได้สร้างขึ้นผ่านผู้ให้บริการยืนยันตัวตนดิจิทัล (IdP) แต่ละราย สามารถนำไป ขอใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย (Relying Party) ไม่ต้องสร้าง Digital ID ซ้ำ
การร่าง พ.ร.บ. Digital ID ปูทางสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีแนวโน้มจะส่งผลเชิงบวกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงินการธนาคาร และสุขภาพ ซึ่งการผลักดันร่าง พ.ร.บ Digital ID ล่าสุดนี้ ถือว่าสอดคล้องกับตารางเวลาด้านเทคนิคที่ทางการไทยได้วางแผนไว้ จะนำไปสู่การยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัลสำหรับภาคการเงินและภาครัฐบางส่วน (IdP) ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ก่อนที่จะมีการยืนยันตัวตนเต็มรูปแบบ พร้อมการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเต็มรูปแบบตั้งแต่ปลายปี 2562
แน่นอนว่า แนวโน้มที่ไทยจะมีกฎหมายรองรับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในเร็วๆ นี้ ย่อมมีนัยที่สำคัญต่อการพัฒนาบริการหลายแขนงที่สำคัญ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน และบริการด้านสุขภาพ
สำหรับบริการด้านการเงินนั้น ในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เตรียมแผนให้บริการการรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นก่อนนำไปสู่การทำธุรกรรมในขั้นต่อๆ ไป แต่ด้วยการที่ในปัจจุบัน การทำ e-KYC เข้าหลักเกณฑ์ของ ธปท.ที่จะต้องผ่านการอนุมัติจาก Fintech Sandbox ก่อน อีกทั้ง การเปิดบัญชีด้วยวิธีดังกล่าว ก็ยังมีข้อจำกัดด้านจำนวนเงินในบัญชีที่ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท และเปิดได้เฉพาะบัญชีออมทรัพย์
นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อกำหนดของ ปปง. ที่ระบุให้ e-KYC ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น ซึ่งการเปิดบัญชีเงินฝาก หรือใช้จ่ายผ่าน e-Wallet เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงตามหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงของปปง. ดังนั้น สุดท้ายแล้ว การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าในกรณีที่ไม่ได้อยู่ใน Sandbox จึงยังต้องอาศัยหลักฐานเสริม อาทิ เอกสารต่างๆ จากลูกค้าควบคู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. Digital ID ใหม่นี้ จะปูทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการเต็มรูปแบบโดยใช้ e-KYC เป็นฐานได้ ซึ่งในจุดนี้ ธนาคารพาณิชย์บางรายก็มีแผนขยายการบริการที่ใช้ e-KYC ให้ครอบคลุมประเภทบริการมากขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ อันนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคแล้ว ก็ยังจะช่วยให้สัดส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของไทย มีโอกาสเติบโตขึ้นในอนาคต (Financial Inclusion)
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะสามารถพิสูจน์ผู้ที่พึงประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อผ่านระบบ Digital ID แทนช่องทางเดิมน่าจะเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่เข้าถึงบริการสินเชื่อได้ คือ ทำให้ขั้นตอนการสมัครใช้บริการง่ายลง โดยจากผลสำรวจของธปท. จากครัวเรือนร้อยละ 5.9 ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อ ที่นอกเหนือจากรายได้ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ การที่ตนไม่กล้าไปติดต่อ (ร้อยละ 19.4) และขั้นตอนยุ่งยาก (ร้อยละ 7.2) ซึ่งในทั้งสองกรณี การเปิดช่องทางสมัครบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การใช้ Biometrics หรือ การสแกนหน้าผ่านมือถือ โดยที่ผู้สมัครไม่ต้องเข้าไปที่สาขาธนาคาร ก็น่าจะขยายสัดส่วนของประชากรกลุ่มศักยภาพ ให้เข้าถึงบริการสินเชื่อได้
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้พึงประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อและมีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่ในภูมิลำเนาห่างไกลจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นๆ จะช่วยทำให้สัดส่วนของประชากรที่เข้าถึงบริการสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่าง จากครัวเรือนร้อยละ 14.8 ที่ใช้บริการสินเชื่อ แต่ได้รับบริการสินเชื่อดังกล่าวจากแหล่งสินเชื่อกึ่งในระบบ หรืออยู่นอกระบบ ร้อยละ 21.2 ระบุว่า เหตุผลที่ตนไม่ใช้สถาบันการเงินในระบบเนื่องมาจากจำนวนสาขาที่มีน้อยหรืออยู่ห่างไกล หากสถาบันการเงินในระบบสามารถต่อยอดจากการที่พ.ร.บ. Digital ID จะทำให้การสมัครบริการสินเชื่อผ่านอินเตอร์เน็ตทำได้เต็มรูปแบบ เปิดช่องทางชำระคืนหนี้โดยไม่ต้องเข้าไปที่สาขา เช่น กระทำผ่านตู้ ATM/CDM หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) ก็น่าจะทำให้ประชากรบางส่วนจากกลุ่มนี้ หันไปใช้บริการสินเชื่อในระบบแทน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรายงานด้วยว่า นอกจากอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารแล้ว ระบบ Digital ID ยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น โครงการประกันสังคมในประเทศไทย ซึ่งการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือทะเบียนบ้าน และการเข้ารักษาต้องมีบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ต่อไปการเปลี่ยนไปใช้ระบบ Digital ID จะทั้งลดค่าใช้จ่ายให้ภาครัฐ และเปิดช่องทางการให้บริการให้แก่ประชากรที่มีเอกสารไม่ครบ
นอกจากนี้ ระบบ Digital ID จะเปิดช่องทางให้ทางโรงพยาบาลผูก Digital ID ของผู้ป่วยแต่ละรายที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล เข้ากับข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ ทำให้การแบ่งใช้ฐานข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยไปใช้บริการโรงพยาบาลอื่น ทำได้ง่ายขึ้น
ระบบ Digital ID ช่วยภาครัฐประหยัดต้นทุนได้ 127 ลบ.ในปีแรก
ในต่างประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร รัฐบาลอังกฤษคำนวณ การเปลี่ยนแปลงการใช้ระบบดิจิทัล สามารถช่วยรัฐบาลสหราชอาณาจักรประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 3.56 พันล้านปอนด์ในช่วงปี 2555-2558 หรือร้อยละ 0.53 ของค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมดในปี 2552 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนระบบ
ขณะที่การใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต GOV.UK Verify เพียงอย่างเดียว ช่วยให้ทางรัฐบาลประหยัดต้นทุนได้ 36.5 ล้านปอนด์ในปีแรกที่มีการทดลองใช้
ทั้งนี้หากคำนวณด้วยอัตราการลดต้นทุนเดียวกันสำหรับกรณีของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ภาครัฐของไทยที่เปลี่ยนแปลงการยืนยันตัวตนแบบตัวต่อตัวหรือ Face-to-Face มาใช้ระบบ Digital ID อาจลดค่าใช้จ่ายของทางการไปได้ 127 ล้านบาทในปีแรก และหากการใช้ Digital ID ช่วยผลักดันให้ภาครัฐปรับระบบการทำการให้ใช้ระบบดิจิทัลโดยส่วนใหญ่เช่นในกรณีประเทศสหราชอาณาจักร ภาครัฐก็อาจประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้ในหลักพันล้านเลยทีเดียว
4 จุดอ่อนไหว ระบบ Digital ID ที่ภาค “การเงิน-การประกัน-รพ.-ปชช.” ควรตระหนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะก้าวมาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น แต่ก็ทำให้เกิดประเด็นว่า
- ภาครัฐและเอกชนจะส่งเสริมให้ประชากรทั่วไปหันมาใช้ระบบ Digital ID ได้อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุที่อาจขาดความคุ้นเคยในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
- ประเด็นการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานในโครงข่าย ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า ทำได้เฉพาะเมื่อเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม โดย คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานในการส่งข้อมูล และในทางปฏิบัติ การที่ภาคเอกชนจะส่ง ข้อมูลลูกค้าลงในระบบกลาง หรือเปิดฐานข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้บริษัทอื่น นั้น ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมาก เพราะข้อมูลลูกค้าคือทรัพย์สินที่มีค่าต่ออนาคตธุรกิจ อีกทั้ง บริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้องมีความรับผิดชอบต่อการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า ในจุดนี้ ต้องมีการจัดตั้งกฎระเบียบอย่างชัดเจน ตลอดจนการระบุโครงสร้างราคาสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละชนิด เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่บนเงื่อนไขที่เป็นธรรมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การเข้าถึงบริการแต่ละชนิดที่ต่างกัน เช่น การขอสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันควรต้องใช้มาตรการที่แน่นหนากว่าการออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ซึ่งในกรณีแรกอาจต้องมีการทำ Face ID หรือ Biometrics ที่ให้ความรัดกุมมากกว่ากรณีการทำประกัน ซึ่งในที่สุดแล้ว ผู้ได้รับสิทธิประกันสุขภาพ จะต้องผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบตัวตนอีกทีในขั้นตอนการรับผลประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งในประเด็นดังกล่าว คาดว่า จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมจากทางการในอนาคต
- ประเด็นด้าน Cyber Security โดยต้องยอมรับว่า การเชื่อมโยงฐานข้อมูลในประเทศเข้ากับระบบดิจิทัลมากขึ้น มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงจากการที่ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลจะถูกขโมยผ่านการโจรกรรมทางไซเบอร์ ซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่องค์กรต่างๆ ต้องเพิ่มทักษะการรับมือกับภัยอันตรายดังกล่าว แม้ภาครัฐและภาคเอกชนริเริ่มโครงการ TB-CERT หรือการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร ระหว่างธปท. และธนาคารเอกชน 15 รายขึ้นมาแล้ว แต่การปกป้องข้อมูลนั้น ในที่สุดแล้ว จะต้องครอบคลุมถึงทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงแค่ภาคการเงิน ซึ่งในจุดนี้ จะมีประเด็นเรื่องระดับเทคโนโลยีเชื่อมต่อที่ต่างกัน นั้นคือ บางองค์กรที่ขาดศักยภาพเชิงเทคโนโลยี และเชื่อมเข้าระบบ Digital ID ผ่านผู้ให้บริการ Proxy Server หากองค์กรดังกล่าวขาดมาตรฐานด้าน Cyber Security ข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของบริษัทผู้ใช้ปลายทางก็อาจถูกผู้อื่นเข้าถึงได้ จึงเป็นอีกประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณา.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com